วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์

การนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์
          การนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ อาจทำได้ในแบบต่าง ๆ กัน เช่น การแสดงในรูป
นิทรรศการ ซึ่งมีทั้งการจัดแสดงและการอธิบายด้วยคำพูด หรือในรูปแบบของการรายงานปากเปล่า
ไม่ว่าการนำเสนอผลงานจะอยู่ในรูปแบบใด ควรครอบคลุประเด็นสำคัญคือ มีความชัดเจน เข้าใจง่าย
และมีความถูกต้องในเนื้อหา
          การแสดงผลงานจัดได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโครงงาน เรียกได้ว่า
เป็นงานขั้นสุดท้ายของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นการแสดงผลิตผลของงาน  ความคิด  และ
ความพยายามทั้งหมดที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเทลงไป และเป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจ
ถึงผลงานนั้น ๆ มีผู้กล่าวว่าการวางแผนออกแบบเพื่อจัดแสดงผลงานนั้นมีความสำคัญเท่า ๆ กับ
การทำโครงงานนั่นเอง  ผลงานที่ทำขึ้นจะดียอดเยี่ยมเพียงใด  แต่ถ้าการจัดแสดงผลงานทำได้ไม่ดี
ก็เท่ากับไม่ได้แสดงความดียอดเยี่ยมของผลงานนั่นเอง
ประเด็นสำคัญที่ควรจัดให้ครอบคลุม
          การแสดงผลงานนั้นอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การแสดงในรูปนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งการ
จัดแสดงและการอธิบายด้วยคำพูด หรือในรูปแบบของการจัดแสดงโดยไม่มีการอธิบายประกอบ
หรือในรูปแบบของการรายงานปากเปล่า  ไม่ว่าการแสดงผลงานจะอยู่ในรูปแบบใด                                      




ควรจัดทำให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
          1.  ชื่อโครงงาน
          2.  ชื่อผู้ทำโครงงาน
          3.  ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
          4.  ความเป็นมาและความสำคัญของโครงงาน
          5.  วิธีดำเนินการ
          6.  การสาธิตหรือแสดงผลที่ได้จากการทดลอง
          7.  ผลการสังเกตและข้อมูลเด่น ๆ ที่ได้จากการทำโครงงาน                                                                    ข้อคำนึงถึงในการจัดนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์   ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
          1.  ความปลอดภัยของการจัดแสดง
          2.  ความเหมาะสมกับเนื้อที่ที่จัดแสดง
          3.  คำอธิบายที่เขียนแสดง  ควรเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญและสิ่งที่น่าสนใจเท่านั้น  โดยใช้
ข้อความกะทัดรัด  ชัดเจน  และเข้าใจง่าย
          4.  ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม  โดยใช้รูปแบบการแสดงที่น่าสนใจ  ใช้สีที่สดใสเน้นจุดสำคัญ
หรือใช้วัสดุต่าง ๆ ในการจัดแสดง
          5.  ใช้ตาราง และรูปภาพประกอบ  โดยจัดวางอย่างเหมาะสม
          6.  สิ่งที่แสดงทุกอย่างและการเขียนข้อความต้องถูกต้อง  ไม่มีการสะกดผิด  หรืออธิบาย
หลักการที่ผิด
          7.  ในกรณีที่เป็นสิ่งประดิษฐ์  สิ่งนั้นควรอยู่ในสภาพที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์                                           ข้อคำนึงถึงในการอธิบายหรือรายงานปากเปล่า  ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
          1.  ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องที่จะอธิบายเป็นอย่างดี
          2.  คำนึงถึงความเหมาะสมของภาษาที่ใช้กับระดับผู้ฟัง  ควรให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
          3.  ควรรายงานอย่างตรงไปตรงมา  ไม่อ้อมค้อม
          4.  พยายามหลีกเลี่ยงการอ่านรายงาน  แต่อาจจดหัวข้อสำคัญ ๆ ไว้เพื่อช่วยให้การรายงาน
เป็นไปตามขั้นตอน
          5.  อย่าท่องจำรายงาน  เพราะทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
          6.  ขณะที่รายงาน ควรมองตรงไปยังผู้ฟัง
          7.  เตรียมตัวตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
          8.  ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ได้ถาม
          9.  หากติดขัดในการอธิบาย  ควรยอมรับโดยดี อย่ากลบเกลื่อนหรือหาทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น
         10.  ควรรายงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

         11.  ควรใช้สื่อประเภทโสตทัศนูปกรณ์ประกอบการรายงานด้วย  เช่น  แผ่นโปร่งใส  หรือสไลด์เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น